วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555























ประวัติวัดสามัคคีธรรมและประวัติการก่อสร้างศาลาการเปรียญ
วัดสามัคคีธรรม ตั้งอยู่บ้านนาเหมือง  หมู่ที่  2  ตำบลพังโคน  อำเภอพังโคน  จังหวัดสกลนคร  มีเนื้อที่  100  ไร่ เนื้อที่ธรณีสงฆ์  158  ไร่  อยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอพังโคนประมาณ  2  กิโลเมตร  ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2485  มีนายกิตติ  เอกอุ่น  ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาเหมืองเป็นผู้ชักชวนจัดตั้ง  โดยมีพระอาจารย์เฒ่า  (หลวงปู่คำ  ยสกุลปุตโต)  เจ้าอาวาสวัดศรีจำปาชนบท บ้านพังโคน  องค์ปัจจุบันนี้เป็นองค์อุปถัมภ์   มีหลวงตาคำอ้าย  พระอาจารย์บุญจันทร์  พระหลวงตานา  สุธมโม  เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและรักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นลำดับต่อมา  จนปี พ.ศ.2506  พระหลวงตานาได้ถึงแก่มรณภาพ  วัดนี้จึงสร้างอยู่  4  ปี  เมื่อปีพ.ศ. 2511  ท่านพระครูศรีภูมานรักษ์  (คำมี  สุวณณสิริ) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่างแดนดิน  อำเภอสว่างแดนดิน  ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพรรณนานิคม-วาริชภูมิ  (ธรรมยุต)  มาตั้งสำนักงานและเจ้าอาวาสวัดสามัคคีธรรมนี้  ได้วางแผนพัฒนา  ตัดถนนในวัดเสร็จในปี พ.ศ.2511-2513  เริ่มสร้างกุฏิไว้เป็นที่พักพอสมควร  และสร้างศาลาหอฉันขึ้น  1  หลัง  ศาลาบ้านพักชี  1  หลัง  รวมราคาประมาณ  50,000  บาท  และหาค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้  เริ่มจากปี  พ.ศ.2512  และสะสมตัวไม้ไว้บ้าง  ก็พอดีได้รับกฐินสามัคคีจากคระแทรกเตอร์เขื่อนน้ำอูน  จากการนำของท่าน ส.กำจัด  มณีดุล ย์  หัวหน้าแทรกเตอร์  ได้รับปัจจัย  12,000  บาท  เป็นปฐมฤกษ์  ในปี พ.ศ.2513  วันที่  19  มีนาคม  2513  จึงได้วางศิลาฤกษ์ศาลาหลังนี้  โดยท่านพระอาจารย์บุญมา  ฐิตเปโม  วัดสิริสาละวัน  จัดงหวัดอุดรธานี  เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ครั้งนี้  ท่านเจ้าคุณธรรมวราภรณ์   เจ้าคณะภาค  8  (ธรรมยุต)  ก็ได้มาร่วมงานในตอนกลางคืนด้วย
งานปีแรกได้เทเสาตอหม้อ  คานคอดินเสาที่ท่อนล่าง  ทุนรอนหมดจึงต้องหยุดพักไว้ก่อน  สร้างกุฏิเป็นที่พักในปี พ.ศ.2514-2515  ได้กุฏิ  8  หลัง  ราคาประมาณ  150,000  บาท  เป็นทุนของวัดบ้างและเจ้าภาพบ้าง เพราะทุนมีน้อยจึงค่อย ๆ ทำไปและในปี  พ.ศ. 2514-2515  เทคานเสาท่อนบน  เมื่อเทคานเสาเสร็จ ปี พ.ศ.2516  จึงได้ยกโครงมุงหลังคายกช่อฟ้าในวันที่  9  กันยายน   2516  งานทำตลอดปี  มุงหลังคา ตีเพดานเสร็จในปี พ.ศ.2517  เข้าพื้น  กั้นฝา  ประตู  หน้าต่าง  เข้าพื้นด้วยไม้พื้นล่างด้วยกระเบื้อง  ลูกกรง บันไดเหล็กย่างเข้าปี  2518  อีก  1  เดือน จึงเสร็จ  เพราะอุปกรณ์ไม่ทัน  ทุนไม่พอจึงทำให้งานล่าช้า  บัดนี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว  งานที่ยังทำไม่เสร็จคือกำแพงแก้ว ยกไว้ทำทีหลัง  (ในเมื่อมีทุน)  ศาลาหลังนี้กว้าง  14  เมตร  ยาว  36  เมตร  สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ   650,000  บาท (หกแสนห้าหมื่นเศษ)  ก่อนที่จะทำครั้งแรกก็ได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการวัดว่า  ถ้าเงินสะดวก (คล่อง)  ก็จะทำเป็นศาลาการเปรียญตามรูปเดิม  ถ้าเงินฝืดก็จะทำเป็นอุโบสถหลังเดียวกันนี้  ครั้นทำมาจริงๆ เงินก็ฝืดเคืองและเจ้าอาวาสก็ป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา  10  วัน จึงได้ออกจากโรงพยาบาล   ไม่มีกำลังใจที่จะดำเนินการต่อ เกือบจะเอาตัวไม่รอด  ดังนั้นจึงเปลี่ยนแผนงานนี้  ที่จะทำเป็นอุโบสถใหม่ ในวันประชุมจัดงานประจำปี 2517  เป็นต้นมา  การก่อสร้างถาวรวัตถุดังกล่าวนี้  จะสำเร็จมาได้ก็เนื่องด้วยได้รับอุปการะจากหลายฝ่าย  ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ ครูบาอาจารย์ คณะสงฆ์ทั่วๆ ไปให้ความร่วมมือ ทั้งจังหวัดสกลนคร และจังหวัดอื่นๆ  ใกล้เคียง  อาทิ  เช่น  จังหวัดหนองคาย  อุดรธานี  จันทบุรี  กรุงเทพมหานคร  ดังรายนามผู้บริจาคตั้งแต่  50  บาท ขึ้นไป  ทางคณะกรรมการได้นำมาลงไว้ในท้ายของรายการนี้แล้ว  ทั้งข้าราชการ  พ่อค้า  ประชาชน  มีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร (นายสอน  สุทธิสาร) เป็นต้น
อนึ่ง  ผู้ที่ช่วยเหลือเป็นสิ่งของ เป็นพาหนะ  คือ  ท่านแม่ทัพภาคที่  2  ส่วนหน้าสกลนคร  ได้ให้รถยนต์ลากไม้แปรรูปจากดงพระลาด  บ้านหนองแปน-นาสีนวน  ตำบลโคกสี  อำเภอสว่างแดนดิน  2  เที่ยว  โรงสีหยูเซ้งล้ง  อำเภอพังโคนช่วยขน 2-3 เที่ยว  ร้านฟรีเจริญผล  อำเภอสว่างแดนดิน  3-4  เที่ยว  รถนายประมวล  ศรีลารักษ์  บ้านเจริญศิลป์  ตำบลทุ่งแก  อำเภอสว่างแดนดิน  1  เที่ยว  นายสมศักดิ์  แซ่กอ  ถวายไม้ตะเคียน  1  ท่อน   นายบุญทัน  สุริยะจันทร์  ถวายไม้เต็ง  5  ท่อน   นางทา  คำภูแสน  บ้านดงสวรรค์  อำเภอสว่างแดนดิน  ถวายไม้ยาง  1  ต้น   นางสงกา  น้อยแสงสี  บ้านดงสวรรค์  อำเภอสว่างแดนดิน  ถวายไม้ยาง  1  ต้น  นายมั่น-นายชาญ  สิทธิไตร  ถวายไม้ตะเคียน  6  ท่อน   ร้านชัยวนิชย์  หนองคาย ถวายหิน-กรวด-ทราย  อย่างละ 6 คิว   คณะจังหวัดจันทบุรี ถวายค่าปูน ประมาณ  200  ถุง  ถวายกฐิน  2  ครั้ง  ผ้าป่า  3  ครั้ง   ประมาณ  80,000  บาท (แปดหมื่นบาทเศษ)  เป็นทุนสร้างศาลาการเปรียญ-สระน้ำและถวายเสื่อลวดจันทบุรี อีกหลายม้วน
สระน้ำ  ขนาดกว้าง  60  เมตร  ยาว  80  เมตร  ลึก  5.50  เมตร   พระเผด็จศักดิ์  ปภัสสโร  ลูกศิษย์ในวัดนี้เป็นผู้วิ่งเต้นติดต่อขอความร่วมมือจากกรมชลประทาน  เขื่อนน้ำอูน   คณะแทรกเตอร์ โดยทางวัดเป็นผู้ออกค่าน้ำมันให้ประมาณ  14,000  บาท   ทุนเป็นของคณะกรุงเทพฯ-จันทบุรี   ทำเสร็จเมื่อวันที่  9  เมษายน  2517  แยกเฉพาะสระน้ำรายใหญ่  คือ  คุณแม่สุพรรณ  เอครพานิช   พร้อมด้วยลูกชาย  คุณพิชิต  เอครพานิช   โรงแรมเมืองจันท์คนละ  3,000  บาท  คณะผ้าป่ากรุงเทพฯ-จันทบุรี  12,000  บาท  คุณแม่สุพรรณพร้อมคุณพิชิต  เอครพานิช  ลูกชายถวายอัครสาวก  1  คู่   ราคา  15,000  บาท   นางนิราพา  ธปคุณ  กรุงเทพฯ ถวายค่าแรงงานหล่อพระประธาน  20,000  บาท   พ.อ.บันจบ  อัครเสนา  ถวายพระพุทธรูปทองขัดหน้าตัก  60  ซม.  ราคา  5,000  บาท   1  องค์   นายสุธีร์-นางแววทิพย์  สื่อกลาง  สร้างกุฏิถวาย  1  หลัง  ราคา  8,000  บาท  นางเกสร  ไชยชมพู  สร้างกุฏิถวาย  1  หลัง  3,000  บาท  นางหนูนิล  พลศรีลา  สร้างกุฏิอุทิศให้สามี    1 หลัง  ราคา  8,000  บาท   นางทองอินทร์-นางประยงค์  พิมูลขันธ์  สร้างกุฏิอุทิศให้ลูกชาย  1  หลัง  ราคา  3,000  บาท  นางทองสุข   สร้างกุฏิถวาย  1  หลัง  ราคา  2,500  บาท   นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมกับทางวัดเล็กๆ น้อยๆ ตามกำลังศรัทธา  คือกุฏิเจริญศิลป์สามัคคี-กุฏิเหลืองลำลึกและกุฏิศรีภูมานุสรณ์  เป็นต้น
อุปกรณ์ส่วนนอกในการสร้างศาลาหลังนี้  คือลูกนิมิต  9  ลูก  ได้มาจากถ้ำเจ้าภูข้า  อำเภอพรรณานิคม  อาศัยญาติโยมบ้านไทยเจริญ  บ้านโคกเสาขวัญ  ตำบลไร่  อำเภอพรรณานิคม  เป็นกำลังช่วยขน  โดยคุณอินทรา เป็นผู้บริการขนส่งใบสี มา  8  ใบ  สำหรับใบสีมาทั้ง  8  ใบนี้ ได้มีผู้ให้ความอุปการะ  คือ
1.พระครูโกวิสังฆภาร  วัดจันทรังสี  เจ้าคณะอำเภอวังสะพุง (ธรรมยุต)                 1   ใบ     400  บาท
2.แม่ใหญ่มา  บุญปัน   บ้านโคกแฝก  ตำบลผาน้อย  อำเภอวังสะพุง                     1   ใบ     400  บาท
3.คณะญาติโยมวัดประชาสวรรค์และวัดจอมมณี   อำเภอวังสะพุง                         1   ใบ     400  บาท
4.นายบัว  จันทิมา   บ้านห้วยทรายคำ   อำเภอวังสะพุง                                          1   ใบ     400  บาท
5.คณะญาติโยมชาวบ้านทรายคำ-บ้านบุ่งกกตากล้วย                                            1   ใบ     400  บาท
6.คณะญาติโยมบ้านโคกแฝก-หนองขาบ   อำเภอวังสะพุง                                     1   ใบ     400  บาท
7.คณะญาติโยมบ้านเหล่ากกเกลี้ยง-บ้านโนน   อำเภอวังสะพุง                              1   ใบ     400  บาท
8.ท่านนายอำเภอสีพนม  วรสาร  ส.ส.จังหวัดเลย                                                    1   ใบ     400  บาท
นอกจากนั้นคุณจีรมิตร  เจียมเจริญอุดมดี   ผู้จัดการโรงเลื่อยจักรประสิทธิ์วัฒนา จำกัด  บ้านต้าย  อำเภอสว่างแดนดิน   ถวายไม้พื้นพักบนทั้งหมด  พักล่าง  2  ห้อง  และขอขอบพระคุณท่านนายอำเภอสีพนม  วรสาร  ที่ช่วยติดต่อนายช่างให้  ไว้  ณ  โอกาสนี้ด้วย
ขออำนวยพร
                                                                   พระครูศรีภูมานุรักษ์
                                                          ประธานกรรมการการก่อสร้างทั้งหมด
                                                                  27  กุมภาพันธ์  2518
                                                                 ประวัติบ้านนาเหมืองโดยสังเขป
บ้านนาเหมือง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ว่าการอำเภอพังโคน ห่างประมาณ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันมีบ้านเรือนประมาณ 250 หลังคาเรือน (ปี พ.ศ.2518)  มีประชากร 1,250 คน  แบ่งเป็น 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 2 และหมู่ 3 ขึ้นกับตำบลพังโคน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร บ้านนาเหมืองมีราษฎรล้วนแต่เป็นชาวภูไทเป็นส่วนมาก  มีประวัติเก่าแก่บ้านหนึ่งของจังหวัดสกลนคร เคยเป็นที่ตั้งของเมืองๆ หนึ่งในอดีต มีชื่อว่า “เมืองจัมปาชนบท” มีเจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงค์  ราชบุตร เป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง ขึ้นกับจังหวัดสกลนคร ภายหลังการจัดระเบียบปกครองใหม่ เมืองจัมปาชนบทได้ถูกยุบเป้นเพียงหมู่บ้านขึ้นกับอำเภอพรรณนานิคม เพิ่งกลับมีฐานะเป็นอำเภอเรียกว่าอำเภอพังโคนเมื่อ 10 ปีมานี้เอง แต่ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านพังโคน ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมและค้าขาย บ้านนาเหมืองแท้ๆ จึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
ดังประวัติบ้านนาเหมืองย่อๆ ว่า เมื่อชาวภูไท อพยพมาจากเมืองวัง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาอยู่ที่นี่ ชาวภูไทได้พากันตั้งบ้านขึ้นให้ชื่อว่า “บ้านจัมปา” อันเป็นนามของดอกไม้ เมื่อมาอยู่ได้ความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว “ท้าวแก้ว” ผู้เป็นหัวหน้าชาวบ้านภูไทบ้านจัมปา จึงได้ปรึกษาต่อเจ้าเมืองสกลนครเพื่อขอตั้งบ้านจัมปาขึ้นเป็นเมือง เมื่อเจ้าเมืองสกลนครได้เห็นดีเห็นชอบแล้ว เจ้าเมืองสกลนครจึงได้มีใบบอกส่งเรื่องราวขอตั้ง เสนอลงไปทางกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นเรียกว่า “ลงไปเฮียนเมือง” ครั้นปี พ.ศ. 2420  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหมู่บ้านจัมปาเป็น “เมืองจัมปาชนบท” และตั้งให้ท้าวแก้วเป็นพระบำรุงนิคมเขตรเป็นเจ้าเมืองจัมปาชนบท พอท้าวแก้วได้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ได้พาบรรดาชาวภูไททำนากัน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวภูไทที่ไม่เคยทำนามาก่อน นาของท่านนี้อยู่ริมหมู่บ้านทางทิศตะวันออกหนองสิมเรียกว่า “ทุ่งนาเมือง” คือเป็นนาของเจ้าเมือง ครั้นพระบำรุงนิคมเขตร (ท้าวแก้ว) ถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวคำไขหลาน ลูกพี่ชายของท้าวแก้วผู้เป็นอุปฮาด ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระบำรุงนิคมเขตร เป็นเจ้าเมืองจัมปาชนบท คนที่ 2 สืบแทน
ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. 2445 ทางราชการสมัยนั้นจึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่คือยุบบรรดาเมืองต่างๆ ลงเป็นอำเภอ มีเมืองพรรณานิคม  เมืองวาริชภูมิ  ลงเป็นอำเภอตามนามเดิม ส่วนเมืองจำปาชนบทนั้นอยู่ใกล้เมืองพรรณนานิคมจึงยุบเลิกเสียเลย โอนหมู่บ้านไปขึ้นกับอำเภอพรรณนานิคมเสีย พระบำรุงนิคมเขตร (ท้าวคำไข) เจ้าเมืองจัมปาชนบท คนที่ 2  ได้พาครอบครัวญาติพี่น้องบางส่วนอพยพไปอยู่ที่บ้านม่วง (อำเภอบ้านม่วง) ในขณะนี้  เพื่อขอตั้งบ้านม่วง เป็นเมืองอีก แต่พระบำรุงนิคมเขตรได้ตายไปเสียก่อน ส่วนเมืองจัมปาชนบทที่ยุบเลิกได้เรียกกันว่า “บ้านนาเมือง” ตามนามทุ่งนาเจ้าเมือง ต่อมาก็พากันเรียกว่า “บ้านนาเหมือง” เรียกผิดเพี้ยนมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น